วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทหารกับการเมือง

ทหารกับการเมืองไทยในอนาคต

“ความเจ็บป่วยทุกชนิดของประชาธิปไตย ต้องรักษาด้วยประชาธิปไตยที่มากขึ้น”
           หากพิจารณาสถานการณ์การเมืองไทยนับจากความสำเร็จของกองทัพในการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา จะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความขัดแย้งหลักที่เกิดขึ้น โดยฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่ต่อต้านรัฐประหาร และอีกฝ่ายหนึ่งก็คือ กลุ่มทหารและรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจรวมถึงกลุ่มและสถาบันในสังคมที่สนับสนุนการกระทำดังกล่าว แต่สำหรับในส่วนของฝ่ายที่ต่อต้านรัฐประหารนั้น มักจะถูกกล่าวหาอย่างง่ายๆเสมอว่าเป็นพวก ”อำนาจรัฐเก่า” หรือพวกของ ”รัฐบาลเก่า” เพื่อต้องการทำลายความน่าเชื่อถือทางการเมืองของการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมองด้วยความเป็นธรรมแล้ว จะเห็นได้ว่ากลุ่มต่อต้านรัฐประหารนั้น มิใช่มีเพียงองค์ประกอบของพวกรัฐบาลเก่าเท่านั้น หากแต่ยังประกอบไปด้วยกลุ่มที่มีความคิดทางการเมือง ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ดังจะเห็นได้ว่า คนในกลุ่มนี้บางส่วนก็เคยเป็นพวกต่อต้านรัฐบาลเก่ามาแล้ว เป็นต้น

      การจำแนกเช่นนี้ก็เพื่อให้เห็นถึงความเป็น 2 ขั้วของการเมืองไทยที่เกิดขึ้นและความเป็นขั้วเช่นนี้ นอกจากจะต่อสู้กันในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ด้วยการจัดชุมนุมในจุดต่างๆของประเทศแล้ว ก็ยังจะต่อสู้กันในพื้นที่ทางการเมืองใน 3 ส่วนหลัก คือ
      1.ปัญหารัฐธรรมนูญ
      2.ปัญหากฎหมายความมั่นคง
      3.ปัญหาการจัดตั้ง ”ระบอบทหาร” ในการเมืองไทย
แม้นว่าการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมา เรื่องของการรับร่างรัฐธรรมนูญแสดงให้เห็นได้ถึงเค้ารางของปัญหาความขัดแย้งในอนาคตว่า มิได้มีอยู่เฉพาะกับเรื่องของรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากแต่การต่อสู้ในเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นจุดเริ่มต้นอย่างชัดเจนที่สุด ในการช่วงชิงการกำหนดอนาคตเพื่อยึดครองพื้นที่ทางการเมืองของสถาบันในสังคมไทย
ดังจะเห็นได้ว่าในการต่อสู้แข่งขันระหว่างการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีเสียงขู่เสมือนกับการ”แบล็คเมล์” อยู่ตลอดเวลา เช่น ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านอาจจะไม่มีการเลือกตั้ง หรือถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ไม่รู้ว่าทหารจะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าท่าทีของกลุ่มทหารที่มาจากการยึดอำนาจแตกต่างไปจากช่วงก่อนนี้อย่างมาก เพราะแต่เดิมสังคมไทยเผชิญกับ “ข่าวลือ” แทบทุกวันถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้นำกองทัพกับผู้นำรัฐบาล หรือปัญหาความขัดแย้งภายในกองทัพ จนถึงขั้นอาจจะต้องใช้มาตรการทหารเข้าแก้ไขด้วยการ “รัฐประหารซ้ำ” เพื่อทำให้อำนาจที่อยู่ในมือของผู้นำทหารบางคนมีความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น
แต่จนถึงปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนว่า โอกาสของการ “รัฐประหารซ้ำ” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาสถานการณ์การเมืองในระยะสั้นแล้วจะเห็นได้ว่า
               1.ผลจากความขัดแย้งภายในของผู้นำทหารทำให้กองทัพไม่เป็นเอกภาพ และไม่สามารถที่จะรวมอำนาจมาไว้ในมือของผู้นำทหารคนหนึ่งคนใดได้ (ปัญหา power consolidaton)
               2.ผู้นำทหารปัจจุบันก็ไม่ได้มีใครมีลักษณะเป็น “บุรุษเหล็ก” ( strongman ) ที่มีลักษณะเข้มแข็งทางการเมืองและมีบุคลิกภาพสูงเด่น พอที่จะทำให้เกิดการนำในกองทัพและเกิดความหวังในหมู่ประชาชนได้อย่างแท้จริง
               3.ปัญหาเชิงทรรศนะระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้นำทหารที่มาจากการยึดอำนาจบางส่วน ทำให้เกิดความขัดแย้งภายใน แต่ผู้นำกองทัพเองก็ไม่ได้มีความเข้มแข็งพอที่จะเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลที่ถูกตั้งขึ้นจากการยึดอำนาจของทหารได้
                4.ประกอบกับความแตกแยกภายในสถาบันทหาร ทำให้ดุลยภาพกำลังในกองทัพ มีลักษณะของการ “คาน” กันอยู่ในหลายๆส่วน การตัดสินใจทำ”รัฐประหารซ้ำ” จึงอาจจะนำไปสู่ปัญหาของการ “รัฐประหารซ้อน”ได้ไม่ยากนัก
            เมื่อการรวมอำนาจของผู้นำทหารหลังการรัฐประหารกระทำไม่ได้ดังเช่นในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสใช้กำลังทหารออกปฏิบัติการทางการเมืองไม่ว่าจะด้วยเหตุของการยึดอำนาจ หรือการใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างการชุมนุมของฝูงชนที่ต่อต้านกลุ่มทหาร จึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำได้ง่ายในปัจจุบัน ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้นำหารที่ต้องการดำรง “ระบอบทหาร” ( military regime ) ไว้ จึงเหลือทางเลือกหลักด้วยการยอมรับให้มีการเลือกตั้งแต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ก็จะต้องมีหลักประกันให้ระบอบการปกครองที่มีผู้นำทหารเป็นผู้นำดำรงอยู่ได้ ในกรณีเช่นนี้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการจัดทำกฎหมายแม่บทของประเทศเพื่อค้ำประกันการสืบต่ออำนาจของกลุ่มผู้นำทหารที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งในมุมมองทางประวัติศาสตร์ อาจจะพิจารณาเปรียบเทียบได้กับรัฐธรรมนูญที่มาจากการยึดอำนาจของกลุ่มทหารในปี 2490 เป็นต้น
         จากที่ผ่านมา ผู้สนับสนุนทหารก็ได้เรียกร้องให้รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปก่อน พร้อมกันนี้ก็มีคนบางส่วนในสังคมที่คิดในแง่ดีว่า การรับร่างรัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้การเมืองไทยกลับไปสู่การเลือกตั้งได้ เช่นเดียวกับผู้คนอีกเป็นจำนวนมากก็กังวลว่าถ้าไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะกลายเป็นช่องทางให้ผู้นำทหารอยู่ในอำนาจต่อไป เพราะการเลือกตั้งไม่อาจเกิดขึ้นได้
อีกทั้งมีคนในสังคมหวังว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเร็วอาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้แนวโน้มของวิกฤตเศรษฐกิจไทยลดความรุนแรง และความน่ากลัวลงได้บ้าง และทั้งยังจะเป็นโอกาสของการ “เปิดวาลว์” เพื่อลดแรงกดดันทางการเมืองจากประชาคมระหว่างประเทศที่ไม่คิดว่า รัฐประหารที่กรุงเทพฯมีความชอบธรรมและเป็นสิ่งควรยอมรับ เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วจะมักมีกฎหมายห้ามการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่รัฐบาลมาจากการรัฐประหารเป็นผู้ปกครอง  การไม่ได้รับการยอมรับในทางการเมืองจากเวทีสากลอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าโครงสร้างทางการเมืองของไทยมีลักษณะของการ “ปิดประเทศ” มาก่อน แต่สังคมไทยซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมเปิด การถูกปฏิเสธจากระชาคมระหว่างประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นผลดีต่อสถานะของประเทศ ไม่ว่าจะมองในทางการเมืองหรือเศรษฐกิจก็ตาม และยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ที่ไทยจำเป็นต้องพัฒนาคู่ขนานกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก การปฏิเสธผลกระทบจากเวทีสากล ด้วยการเชื่อแบบง่ายๆว่า รัฐประหารเป็นเรื่องภายในบ้านของคนไทย อาจจะทำให้เราถูกทอดทิ้งทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจได้โดยง่าย ดังตัวอย่างของการที่การลงทุนจากต่างประเทศเดินออกจากประเทศไทยมุ่งไปสู่เวียดนาม เป็นต้น
           นอกจากนี้ในสภาพของการถูก “แบล็คเมล์” ทางการเมืองให้ต้องรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ผลจากการรับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็คือร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 19 มิถุนายน และผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2550 ตามลำดับ   จากสภาพเช่นนี้ สังคมไทยจะไม่เพียงแต่ต้องอยู่กับอนาคตที่มีผลผลิตจากกระบวนการสร้างสถาบันของอำนาจทหารในการเมืองในบริบททางกฎหมาย 2 เรื่องใหญ่ คือ หนึ่งสังคมไทยจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ถูกจัดทำขึ้นโดยองค์กรที่มาจากการรัฐประหาร และสองสังคมไทยจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดด้วยกฎหมายความมั่นคง (ที่ถูกร่างขึ้นโดยคณะทหาร)
ผลผลิตเช่นนี้ย่อมนำไปสู่การจัดตั้ง “ระบอบทหาร” ซึ่งระบอบเช่นนี้มิได้หมายถึงรูปแบบเช่นในอดีตด้วยการจัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้นปกครองประเทศ หากแต่มีนัยถึง รูปแบบการปกครองที่อยู่ภายใต้การควบคุมและ/หรืออิทธิพลของกลุ่มทหารเป็นสำคัญ และในขณะเดียวกันก็อาจจะไม่จำเป็นว่า หัวหน้ารัฐบาลต้องเป็นทหารหรืออาจจะเป็นทหารก็ได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือสถานะของรัฐบาลอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของกองทัพ และเมื่อใดก็ตามที่กองทัพถอนการสนับสนุนทางการเมืองออก รัฐบาลนั้นก็ไม่สามารถอยู่รอดได้
             ฉะนั้นผลจากการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงมีนัยอย่างสำคัญต่ออนาคตการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดขึ้นของ “ระบอบทหาร” อันจะทำให้การเมืองไทยในอนาคตข้างหน้าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทหาร และยิ่งประกอบกับท่าทีของผู้นำทหารปัจจุบันบางท่านต่อการเลือกตั้งแล้ว ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดถึงพลวัตรของการเมืองไทย ที่ผู้นำกองทัพมักจะมีความเชื่อว่า การเมืองไทยจะต้องถูกกำกับโดยผู้นำทหาร เพราะจินตนาการที่ถูกสร้างขึ้นอย่างง่ายๆจากกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมภายในกองทัพ ด้วยความเชื่อที่ว่า ผลประโยชน์ของทหารคือผลประโยชน์ของชาติ
ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า สังคมไทยหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะยิ่งมีความเด่นชัดถึงการต่อสู้ระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนทหารกับกลุ่มต่อต้านทหารในการเมืองไทย หรือเป็นความขัดแย้งของความคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยมกับแบบทหารนิยมนั่นเอง

(จากจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 32 มกราคม 2551 : สุรชาติ บำรุงสุข )
แหล่งที่มา:http://www.siamjurist.com/forums/5129.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น