วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ความหมายปรัชญา

        คำว่า "ปรัชญา" เป็นศัพท์บัญญัติของพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์วรรณ) เพื่อแปลคำว่า "Philosophy" "ปรัชญา"เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากภาษาสันสกฤต ถ้าในภาษาบาลีใช้คำว่า "ปัญญา"ความหมายตามรูปศัพท์
     "ปรัชญา" แปลว่า ความรู้อันประเสริฐ ความรู้ที่ดีเลิศ ความรู้อันสูงสุด ความรู้รอบ ความรู้ทั่ว หรือความเปรื่องปราด  "Philosophy" มาจากภาษากรีกโบราณคือ "Philosophia" ("philos"+"sophia") "philos" แปลว่า ความรัก, ความชอบ,ความสนใจ,ศรัทธา หรือความเลื่อมใส "sophia" แปลว่า ความรู้, ความฉลาด,สติปัญญา, ความเป็นปราชญ์ หรือความเปรื่องปราด Philosophyแปลว่า ความรักความสนใจในความรู้ ความสนใจในความฉลาด หรือความชอบ ความใฝ่ใจในการแสวงหาความรู้ ความรักในการศึกษาเล่าเรียน อยากฉลาด อยากเป็นนักปราชญ์ อยากเป็นบัณฑิต

ความแตกต่างของ "ปรัชญา" กับ "Philosophy
      Philosophy หมายถึง ความขวนขวายพยายามหาหนทางที่จะพ้นไปจาก "อวิชชา" หรือความสงสัย หรือความโง่เขลา มีความกระตือรือร้นในการที่จะแสวงหาความรู้
ปรัชญา หมายถึง ความรู้ความฉลาดที่ได้รับภายหลังกำจัด "อวิชชา" หรือสิ้นสงสัย ได้ความรู้อันประเสริฐ หรือได้ตรัสรู้ "ที่สุดของ Philosophy ก็คือเบื้องต้นของปรัชญา"

ความหมายของ"ปรัชญา"ตามคำกล่าวของนักปราชญ์
-เสฐียร พันธรังสี กล่าวไว้ว่า "ปรัชญา ได้แก่หลักฐานแห่งความรู้ ,หลักวิทยาการหรือหลักประพฤติปฏิบัติ หรือหมายถึงความเชื่ออันใดอันหนึ่ง เป็นความรู้ความคิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเทพเจ้าใดๆ"
-หลวงวิจิตรวาทการ กล่าวไว้ว่า "ปรัชญา หมายถึงหลักความดีที่สามารถสอนกันเองได้ คิดค้นมาใหม่ได้ ซึ่งมีจดจารึกกันไว้เพื่อศึกษากันต่อมา ไม่เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ไม่ได้มาจากเทพเจ้า หรือสวรรค์ชั้นใด"
-พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า "ปรัชญาเป็นวิชาว่าด้วยหลักความรู้และความจริง"
-เพลโต นักปรัชญากรีกผู้ยิ่งใหญ่ กล่าวไว้ว่า "ปรัชญาหมายถึงการศึกษาหาความรู้เรื่องสิ่งนิรันดรและธรรมชาติแท้จริงของสิ่งทั้งหลาย"
-อริสโตเดิล กล่าวไว้ว่า "ปรัชญาคือศาสตร์ที่สืบค้นถึงธรรมชาติของสิ่งที่มีอยู่โดยตัวเอง ตลอดจนคุณลักษณะตามธรรมชาติของสิ่งนั้น"
-กองต์ กล่าวไว้ว่า "ปรัชญาคือศาสตร์ของศาสตร์ทั้งหลาย (Science of Science)"
-วุนต์ กล่าวไว้ว่า "ปรัชญา คือการรวบรวมความรู้ที่ได้จากวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆมาไว้ในที่เดียวกัน"
ความหมายอื่นๆของ"ปรัชญา"

นักปรัชญาเมธีหลายคนได้ให้ความหมายของ "ปรัชญา" ไว้ต่างๆกัน

-บางท่านกล่าวว่า "ปรัชญา หมายถึงความรู้อันประเสริฐ (Genuine Knowledge)" ซึ่งหมายถึงความรู้อันแท้จริงแน่นอน ไม่ใช่ความรู้หลอกๆ และหมายถึงความรู้อันลึกซึ้งไม่ใช่ความรู้เพียงผิวเผินหรือความรู้ตื้นๆ เพราะความรู้ทางปรัชญาต้องคิดค้นเข้าไปจนถึงที่สุด จนพบความจริงขั้นสุดท้าย (Ultimate or Absolute Truth) ชนิดที่ไม่มีอะไรจริงยิ่งไปกว่า หรือได้พบสัจธรรมอันสูงสุด เช่น การพบกฎเหตุผลสากล หรือการพบว่า นิพพาน (Nirvana) เป็นสิ่งสูงสุดในพุทธศาสนา (Buddhism)
-บางท่านได้ให้ความหมายว่า "ปรัชญา คือความรู้สากลและจำเป็น (Universal and Necessary Knowledge)"
     "ความรู้สากล"หมายถึงความรู้ที่ใช้อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างได้ เช่นกฎแห่งอนิจจัง หรือหลักไตรลักษณ์ในพุทธศาสนา ไตรวัฏ หรือปฏิจจสมุปบาทในพุทธศาสนา หรือแม้แต่กฎวิภาษวิธี (Dialectics) ซึ่งเริ่มจากการมีสภาวะพื้นฐาน แล้วเกิดความขัดแย้ง ต่อมาจึงสงเคราะห์กัน สำหรับคาร์ล มาร์กซ์มีความเห็นว่า ความขัดแย้งนำไปสู่ความเจริญ
     "ความรู้จำเป็น" หมายถึงความรู้ที่จำเป็นต้องรู้และจำเป็นสำหรับวิชาการทุกสาขาวิชา หมายความว่าสรรพวิชาการต้องมีปรัชญาเป็นหลักหรือเป็นแม่บทอยู่ หรือจะกล่าวว่า ปรัชญาเป็นศูนย์รวมสรรพวิชาการทั้งหลาย เช่น ปรัชญาการศึกษา ปรัชญาการเมือง ปรัชญาวิทยาศาสตร์ ปรัชญาสังคม ปรัชญาศาสนา ฯลฯ
     -บางท่านก็กล่าวไว้ว่า "ปรัชญา" หมายถึงหลัก (Principle) หรือหลักการและเหตุผล ซึ่งจะนำไปสู่จุดหมายที่ต้องการ
สรุปความหมายของปรัชญา

ปรัชญาโดยกว้างๆทั่วไป ก็พูดถึงความจริงที่สิ้นสุด ความจริงที่สูงสุด ความจริงขั้นสุดท้าย รวมทั้งวิธีการที่จะนำไปสู่ความจริงนั้น ล้วนเป็นผลรวมแห่งประสบการณ์เดิมที่ได้ผ่านการพิจารณาหรือไตร่ตรอง รวมทั้งพิสูจน์ทดลองมาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนครบทุกขั้นตอน จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ดีที่สุด ปรัชญากับศาสนาปรัชญาบริสุทธิ์ไม่มีลักษณะของความขลังและความศักดิ์สิทธิ์เหมือนอย่างศาสนา แต่ศาสนามีลักษณะเป็นปรัชญาได้
แหล่งที่มา:http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=47.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น