วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

สู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ(พ.ศ. 2475)

                 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย เมื่อ คณะราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการสายทหารบก ทหารเรือ และสายพลเรือน จำนวน 99 คน โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
                 โดยที่คณะราษฎร์ได้นำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวซึ่งได้ร่างเตรียมไว้แล้ว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และพระองค์จึงได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วพระราชทานแก่คณะราษฎร ซึ่งถือว่าประเทศไทยได้เริ่มมีรัฐธรรมนูญใช้ในการปกครองประเทศเป็นครั้งแรกนับแต่นั้นมา
กฎหมายดังกล่าว ถือเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรก ซึ่งเป็นฉบับชั่วคราวและเป็นฉบับที่มีอายุการใช้งานเร็วที่สุด คือ รวมอายุการประกาศ และมีระยะเวลาบังคับใช้ทั้งหมดเพียง 5 เดือน 13 วัน นับจากการประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 จำนวน 39 มาตรา และในที่สุด ก็ได้รับการยกเลิกอย่าง "สันติ" เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เนื่องจากการประกาศ และบังคับใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับถาวร
                                                                      คณะราษฎร
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475
                 10.1.1.2 หลักการสำคัญ
   1) ประกาศว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎร (มาตรา 1) ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
  2) พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ กิจการสำคัญของรัฐทำในนามของพระมหากษัตริย์
  3) เป็นการปกครองแบบสมัชชา โดยกำหนดให้ คณะกรรมการราษฎร ซึ่งมีจำนวน 15 คน ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาผู้แทนราษฎร
 4) เริ่มมีรัฐสภาขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้เป็นสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจสูงสุด กล่าวคือ
                   (ก) ตรากฎหมาย
                   (ข) ควบคุมดูแลราชการ กิจการของประเทศ
                   (ค) มีอำนาจถอดถอน หรือ สามารถปลดกรรมการราษฎร และข้าราชการทุกระดับชั้นได้ โดยคณะกรรมการราษฎร ไม่มี อำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร
                   (ง) วินิจฉัยการกระทำของพระมหากษัตริย์
  5) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้กำหนดอายุของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ 20 ปีบริบูรณ์เท่ากัน ส่วนวิธีการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม คือ ให้ราษฎรเลือกผู้แทนตำบลแล้วผู้แทนตำบลก็เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกทอดหนึ่ง
 6) ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามกฎหมาย แต่ไม่มีหลักประกันความอิสระของผู้พิพากษา

          10.1.2 ฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
                 10.1.2.1 ความทั่วไป
          เมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพ.ศ. 2475 แล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็ได้แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศอย่างถาวร รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 นี้ มีหลักการและแนวทางในการปกครองประเทศคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 มาก ทั้งนี้ เพราะคณะกรรมการยกร่างก็ดี สภาผู้แทนราษฎรผู้พิจารณาก็ดี ต่างก็เป็นบุคคลสำคัญของคณะราษฎรทั้งสิ้
นับถึงปัจจุบันต้องถือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญไทยที่ใช้บังคับได้นานที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญมา โดยได้ประกาศ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จำนวน 68 มาตรา และได้รับการยกเลิกอย่าง "สันติ" เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 เนื่องจากการประกาศ และบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ทั้งหมดนั้น เป็นระยะเวลายาวนานถึง 13 ปี 5 เดือนเลยทีเดียว
                 10.1.2.2 หลักการสำคัญ
    1) กำหนดให้ประเทศสยามเป็นรัฐเดี่ยว
    2) อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ คือ
                     - ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางสภาผู้แทนราษฎร
                     - ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี
                     - ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล
และได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด มิได้ และให้ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
3) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดๆ มีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นๆ เป็นโมฆะ แต่ไม่กำหนดให้องค์กรใดเป็นผู้ชี้ขาด
4) เป็นการปกครองระบบรัฐสภา (Parliamentary System) โดยกำหนดให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินด้วยความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีก็อาจถวายคำแนะนำพระมหากษัตริย์ให้ทรงยุบสภาผู้แทนราษฎรได้
5) ใช้ระบบสภาเดียวเช่นเดิม คือ สภาผู้แทน ประกอบด้วย สมาชิก 2 ประเภท คือ สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง (ครั้งแรก ใช้วิธีการเลือกตั้งทางอ้อม โดยราษฎรเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือก ส.ส. อีกต่อหนึ่ง จากนั้น ครั้งต่อๆ มาจึงใช้วิธีการเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรง) ส่วนสมาชิกประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งมีจำนวนเท่ากัน และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยที่อย่างช้าไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ ส.ส. ทั้งหมด จะต้องมาจากการเลือกตั้งของราษฎร
6) มี คณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี มีจำนวนอย่างน้อย 15 คนอย่างมาก 24 คน โดยรัฐมนตรีอย่างน้อย 14 คน จะต้องเลือกมาจากสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎร
7) การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ ศาลจะจัดตั้งขึ้นได้ก็โดยพระราชบัญญัติ และรับรองอิสระของผู้พิพากษา
8) รับรองสิทธิของชนชาวสยามไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก โดยได้รับรองความเสมอกันในกฎหมาย (มาตรา 12) รับรองเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา (มาตรา 13) รับรองเสรีภาพในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรมการประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม และการอาชีพ (มาตรา
9) มีการกำหนดหน้าที่ของชนชาวสยามเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้บุคคลมีหน้าที่เคารพต่อกฎหมาย ป้องกันประเทศ และเสียภาษีอากร (มาตรา 15)
โดยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2482 แก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยนามประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" ยังผลให้ชื่อของรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนเป็น "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ไปด้วย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2483 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล อันมีผลให้บทเฉพาะกาล ซึ่งควรจะต้องสิ้นสุดในวันที่ 10 ธันวาคม 2485 เป็นอย่างช้า ยืดเวลาออกไปอีก 10 ปี แก่นแท้ของการเสนอ ยืดบทเฉพาะกาล ก็คือ การคงอยู่ต่อไปอีกของสมาชิกประเภทที่ 2 อันมาจากการแต่งตั้ง จาก 10 ปี เป็น 20 ปี นั่นเอง ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2485 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังผลให้สามารถขยายเวลา อยู่ในตำแหน่ง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ออกไปอีกคราวละ 2 ปี ถ้ามีเหตุการณ์ที่ทำให้เป็นการพ้นวิสัย โดยมีเหตุขัดข้องต่างๆ อันไม่อาจที่จะมีการเลือกตั้งได้ เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2
แหล่งที่มา:http://e-learning.mfu.ac.th/mflu/1604101/chapter3/Lesson10.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น