วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

ศาลทหาร

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๒๘ วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและคดีอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๖ แบ่งศาลทหารออกเป็น ๓ ชั้น คือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลาง และศาลทหารสูงสุด
สำหรับศาลทหารชั้นต้น พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๗ แบ่งออกเป็นศาลจังหวัดทหาร ศาลมณฑลทหาร ศาลทหารกรุงเทพ และศาลประจำหน่วยทหาร
พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๓ ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาวางบทลงโทษผู้กระทำผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญา ในคดีซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด และมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลใด ๆ ที่กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
แต่คดีต่อไปนี้ ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔
๑) คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน
๒) คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
๓) คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัว
๔) คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ต้องดำเนินคดีในศาลพลเรือนตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๕ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๗๙๖/๒๕๔๑)
บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๖ กำหนดไว้ ดังนี้
๑) นายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ
๒) นายทหารชั้นสัญญาบัตรนอกประจำการ เฉพาะเมื่อกระทำผิดต่อคำสั่งหรือข้อบังคับตามกฎหมายอาญาทหาร
๓) นายทหารประทวนและพลทหารกองประจำการ หรือประจำการ หรือบุคคลที่รับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
๔) นักเรียนทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
๕) ทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้รับตัวไว้เพื่อให้เข้ารับราชการประจำการอยู่ในหน่วยทหาร
๖) พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร เมื่อกระทำผิดในหน้าที่ราชการทหารหรือกระทำผิดอย่างอื่นเฉพาะในหรือบริเวณอาคาร ที่ตั้งหน่วยทหาร ที่พักร้อน พักแรม เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะใด ๆ ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร
๗) บุคคลที่ต้องขัง หรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย
๘) เชลยศึก หรือชนชาติศัตรูซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารนอกจากนี้ ยังมีศาลทหารในกรณีไม่ปกติ เรียกว่า “ศาลอาญาศึก” ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อมีการรบ การสงคราม หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และเมื่อหน่วยทหารหรือเรือรบอยู่ในยุทธบริเวณ (ซึ่งกำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) ตั้งอยู่กับหน่วยทหารหรือเรือรบในยุทธบริเวณทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีเขตอำนาจเฉพาะหน่วยทหารที่อยู่ในยุทธบริเวณมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง ซึ่งจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจนั้น โดยไม่จำกัดตัวบุคคลและอัตราโทษ เมื่อศาลอาญาศึกพิพากษาแล้วไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาใด ๆ ทั้งสิ้น
แหล่งที่มา:http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1582

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น