วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

ความเหมือนและความต่างระหว่างปี 40 และ 50


หากเรามองดูทั้งสี่มาตราในรัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2540 เป็นตัวตั้งแล้วจะเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 นั้นได้ถอดแบบของปี 2540 มาทั้งหมด แต่มีการเพิ่มเติมและรายละเอียดเพื่อให้รัดกุมและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้รับบทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 2540 มาแล้วจึงพยายามคิดถ้อยคำให้ปิดช่องโหว่และลดการตีความเข้าข้างพรรคพวกของตนให้มากที่สุด การเปลี่ยนแปลงมีรายละเอียดดังนี้

มาตรา 37 ในปี 40 และ 36 ในร่างปี 50 ไม่มีอะไรแตกต่างกันแม้แต่นิดเดียว ยังคงรักษาสิทธิการสื่อสารระหว่างบุคคลของ คนธรรมดาไว้อย่างเหนียวแน่น หากทำได้แปรว่าไม่มีใครสามารถมาล่วงรู้ข้อมูลที่เราทำการสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้เลย ยกเว้นแต่การกระทำภายใต้กฎหมายที่จะรักษาความมั่นคงของประเทศ หรือศีลธรรมที่ดีของประชาชน ดังนั้นหากเราเป็นผู้ก่อการร้ายหรือคาดว่าเราจะเป็นผู้ทำให้ประเทศชาติล่มสลาย หรือหากเราเป็นผู้เผยแพร่ภาพลามกอนาจารทำให้คนในประเทศสารขัณฑ์ของเราตกอยู่ภายใต้กิเลสตัณหาราคะโงหัวไม่ขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงจะมีสิทธิตรวจสอบเนื้อหา (เช่นเช็คอีเมล์ ดักฟังโทรศัพท์ ฯลฯ) ที่เราติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้

มาตรา 39 ในปี 40 และ 45 ในร่างปี 50 มีสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาหนึ่งวรรค และถูกตัดออกไปหนึ่งประโยค สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการป้องกันการแทรกแซง หรือห้ามการแสดงความคิดเห็น และการเสนอข่าวของสื่อมวลชนไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้นนั่นก็คือหากพิจารณาแล้วเห็นว่าความคิดเห็นดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคง สุขภาพที่ดี สิทธิส่วนบุคคลของบุคคลอื่นซึ่งก็ไม่ต่างจากปี 40 ที่มีข้อจำกัดเช่นนี้เหมือนกัน ส่วนสิ่งที่ตัดออกไปคือช่องทางที่จะให้คนต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนของประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ดังนั้นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนทุกแขนง ทุกแห่งในประเทศไทยจะต้องมีเจ้าของเป็นคนไทยเท่านั้น โดยไม่มีกฎหมายใดๆ มาให้คนต่างชาติมาเป็นเจ้าของสื่อมวลชนได้

มาตรา 40 ในปี 40 และ 47 ในร่างปี 50 มีสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามามากเป็นพิเศษ สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือจากเดิมในปี 40 ไม่ได้ระบุจำนวนองค์กรในการจัดสรรคลื่นความถี่ทำให้มีกฎหมายลูกกำหนดให้มีสององค์กรคือ กสช. และ กทช. ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งทั้งสององค์กร (กรุณาย้อนไปดูในเอ็นทรี่ที่แล้วครับ) แต่จากการเพิ่มคำว่า หนึ่ง เข้ามาในวรรคที่ 2 และปรับแก้ถ้อยคำบางส่วนทำให้ร่างในปี 50 กำหนดให้มีองค์กรเพียงองค์กรเดียวที่เป็นผู้กำกับดูแล จัดสรรคลื่นความถี่ทั้งวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ดังนั้นกฎหมายเดิมที่กำหนดให้จัดตั้งทั้งสององค์กร (กสช. และ กทช.) ก็มีอันต้องยกเลิกไป

และสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาอีกก็คือกำหนดให้ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการสื่อมวลชนสาธารณะด้วย และที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งคือกำหนดให้องค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้คนหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีกิจการสื่อมวลชนอยู่ในมือมากหรือหลากหลายสื่อ เช่น บริษัท ช. ประกอบกิจการโทรทัศน์อยู่ก็ไม่สามารถทำกิจการวิทยุ และหนังสือพิมพ์ควบคู่กันไปได้จะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ถือเป็นมาตรการไม่ให้คนหรือกลุ่มคนสามารถครอบงำหรือกำหนดข่าวสารให้คนทั้งประเทศรับข้อมูลข่าวสารข้างเดียวได้

มาตรา 41 ในปี 40 และ 46 ในร่างปี 50 มีสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามามากเช่นกัน สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือการพยายามทำให้เกิดองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร และมีการสร้างกลไกควบคุม ตรวจสอบกันเองภายในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งมีการเพิ่มกลไกป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจเช่นนักการเมือง ผู้บังคับบัญชาทั้งในสื่อมวลชนทั้งของรัฐ และสื่อมวลชนที่เป็นเอกชนมาแทรกแซง หรือห้ามการนำเสนอข่าวสารและความคิดเห็นของผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนอีกด้วย แต่การกระทำทุกอย่างจะต้องอยู่ภายใต้จรรยาบรรณ และจริยธรรมวิชาชีพของสื่อมวลชนเท่านั้น หากผู้มีอำนาจทั้งนักการเมืองแล้วก็ผู้บังคับบัญชาก็จะถือว่าเป็นความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

นอกจากนั้นในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังมีการเพิ่มมาตรา 48 เข้ามาเพื่อตอกฝาโลงนักการเมืองไม่ให้เข้ามาข้องเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชนโดยเด็ดขาดไม่ว่าด้วยวิธีการสลับซับซ้อนขนาดไหนก็ตามก็ไม่สามารถมีอิทธิพลหรือควบคุมสื่อมวลชนได้ ดังนั้นนักการเมืองไม่สามารถจะควบคุมการนำเสนอข่าวสารเพื่อเอื้อประโยชน์เสริมสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองได้อีก


4. ผลที่จะตามมา (หากร่างรัฐธรรมนูญฯ ปี 50 มีการบังคับใช้)

           จริงๆ แล้วการคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างทำได้ยากมากครับ เพราะนักการเมืองบ้านเราสืบเชื้อสายมาจากศรีธนญชัย (ไม่ได้ว่าคุณชัยนะ) ทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆ มักจะเปลี่ยนแปลงไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงเมื่อแรกสร้างกฎเกณฑ์นั้นๆ หากจะมองกันจริงๆ แล้วในเรื่องของการสื่อสารในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช 2540 กับ ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับ 2550 แทบจะไม่ต่างกันโดยรวมแล้วแตกต่างกันตรงที่กำหนดให้มีองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่แค่องค์กรเดียวเท่านั้น ส่วนประเด็นอื่นๆ จะเป็นการ ล้อมคอก ให้มีความรัดกุมชัดเจนมากยิ่งขึ้นจากสาเหตุต่างๆ ที่ได้เขียนไปแล้วในข้อ 2 แต่ก็ยังปกป้องสิทธิการสื่อสารทั้งของปัจเจกบุคคล และสื่อมวลชนไว้ในระดับเดิมไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

สิ่งที่น่าสังเกตได้อีกอย่างหนึ่งคือความพยายามที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสื่อมวลชนสาธารณะเพื่อให้เป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง (?) แต่ทั้งหมดนี้ถือเป็นเพียง แนวคิด ในการจัดการกับการสื่อสารของประเทศเท่านั้น ผลในทางปฏิบัติยังไม่สามารถที่จะคาดเดาได้เด่นชัดเพราะยังจำเป็นที่จะต้องรอกฎหมายลูกที่จะตามออกมาหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

แต่ในระดับปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายที่เป็นคนธรรมดาจะได้รับผลประโยชน์โดยตรงในทันที เพราะหากเราถูกละเมิดในด้านการสื่อสารเช่นมีคนมาข่มขู่ห้ามพูดห้ามแสดงความคิดเห็น หรือแอบอ่านอีเมล์ ดักฟังโทรศัพท์ ไม่ว่าจะจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลธรรมดา เราสามารถใช้กฎหมายเหล่านี้ใช้ฟ้องร้องได้ทันที และอ้างอิงบทลงโทษจากกฎหมายอื่นๆ ได้ และนอกจากนั้นรัฐบาลจะไม่สามารถมาห้ามหรือกีดกันการสื่อสารของเราได้อีก

หากเป็นผลกระทบในระดับสื่อมวลชนจะยังไม่สามารถเห็นผลได้ชัดเจนในทันทีทันใด จำเป็นต้องใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน (ถ้าไม่โดนฉีกรัฐธรรมนูญไปอีกรอบ) อาจมากกว่า 10 ปี เนื่องจากถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ทัศนคติ และค่านิยมของคนทั้งประเทศ และเกี่ยวพันกับผลประโยชน์มหาศาลนับแสนล้านบาททำให้การเปลี่ยนแปลงและดำเนินตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก แต่หากมีกระบวนการเร่งรัดโดยภาคประชาชนก็อาจทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญได้เร็วขึ้น


5. บทสรุป


มีหลายๆ คนโดยเฉพาะผู้ที่เรียนหรือทำงานด้านการสื่อสารมวลชน มักจะพูดว่า เสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่จะเป็นอย่างนั้นได้ก็ต่อเมื่อตัวสื่อมวลชนเองต้องอยู่ภายใต้จรรยาบรรณ และจริยธรรมของวิชาชีพสื่อมวลชน รวมทั้งต้องเข้าสู่กลไกของการรับผิดชอบต่อสังคมเท่านั้น ซึ่งหนทางที่จะให้สื่อมวลชนเป็นอย่างนั้นได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐ ตัวสื่อมวลชนเอง ภาคธุรกิจ และที่สำคัญที่สุดคือ ภาคประชาชนที่จะต้องคอยตรวจสอบและสนับสนุนสื่อที่อยู่ภายใต้ครรลองที่กล่าวมาข้างต้น ในขณะเดียวกันประชาชนก็จะต้องต่อต้าน ไม่สนับสนุนสื่อมวลชนที่ละเมิด หรือไม่ได้ทำตามกรอบของการเป็นสื่อมวลชนที่พึงกระทำ

ในรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540 และ ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ต่างก็มีแนวคิดไปในทางเดียวกันคือให้สิทธิการสื่อสารอย่างสูงสุดเท่าที่จะให้ได้แก่ประชาชน และปกป้องสื่อมวลชนจากการครอบงำของฝ่ายต่างๆ แนวทางนี้ถือเป็นเกราะป้องกันให้สื่อมวลชนและประชาชนร่วมกันเดินไปสู่อุดมคติข้างต้นคือ สื่อมวลชนต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง และประชาชนก็มีหน้าที่ต้องตรวจสอบสื่อมวลชนเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเพราะหากสื่อมวลชนตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายธุรกิจ หรือสองฝ่ายผนึกกำลังกันเข้าครอบงำ แทรกแซง ครอบครองสื่อมวลชนอย่างที่ผ่านมา ประชาชนนั่นเองที่จะเป็นผู้เสียหายที่สุด เพราะข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนจะมีเพียงด้านเดียวคือด้านที่เอื้อประโยชน์ทางด้านภาพลักษณ์ให้แก่ฝ่ายการเมืองและฝ่ายธุรกิจเท่านั้น ความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยมของคนส่วนใหญ่ในสังคมก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหากผู้ควบคุมเป็นผู้ที่มีจริยธรรมและศีลธรรมสูงส่งก็ถือเป็นโชคดี แต่หากผู้ที่มาควบคุมสื่อด้วยวิธีการต่างๆ หาประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้องก็จะทำให้ประชาชนและประเทศชาติเสียหายอย่างใหญ่หลวง หากจะกล่าวง่ายๆ ก็คือบทบัญญัติทางด้านการสื่อสารที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้เป็นการป้องกันการนำสื่อมวลชนไปใช้เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งผลกระทบที่จะตามมาจากการโฆษณาชวนเชื่อก็คือ การกลายเป็น สังคมมิติเดียว (One Dimension Society) ความน่ากลัวที่เกิดขึ้นและเป็นที่ประจักษ์ชัดมาแล้วนั่นก็คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของฮิตเลอร์ ที่ใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทำให้เกิดการฆาตรกรรมหมู่ที่โหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
       สำหรับการตัดสินใจในร่างรัฐธรรมนูญ มีหลากหลายความคิดเห็นที่ผ่านเข้ามาทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า หากรัฐธรรมนูญให้สิทธิ และบทบาทภาคประชาชนมามีส่วนร่วมในการตัดสินใจบริหารประเทศมากเท่าไหร่ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี เพราะประเทศไทยเองได้ถูกติดตรึงอยู่กับระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนมาเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดค่านิยมและทัศนคติที่ผิดกับนักการเมืองว่าเป็นเจ้านายควรยกย่องเทิดทูน แต่แท้จริงแล้วนักการเมืองก็คือผู้รับใช้ของประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนมารับใช้ ที่มาของนักการเมืองจึงไม่ได้มีความสำคัญมากเท่ากับ สิทธิและบทบาทของประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้ ที่คิดเช่นนี้เพราะจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยนักการเมืองส่วนใหญ่ต่างก็มีฐานคิดเดิมๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ เห็นว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับตนเองและพวกพ้องมหาศาลเท่านั้น เมื่อเราไม่สามารถพึ่งนักการเมืองได้ แต่ในอนาคตอาจจะต้องใช้เวลาหลายสิบปี เราอาจจะพึ่งพานักการเมืองได้อาจจะเป็นสายเกินไป

ดังนั้นจุดสนใจของประชาชนและรัฐธรรมนูญควรจะเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับจำนวนหรือที่มาของ ส.ส. ส.ว. มาเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจปัญหาสำคัญๆ ของประเทศ และประชาชนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศที่ด้อยประสิทธิภาพให้ง่ายมากขึ้น การตรวจสอบจากภาคประชาชนก็จะเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่าเป็น การเมืองภาคประชาชน ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเหมาะกับสภาพของสังคมไทยที่มีนักสู้อยู่จำนวนมากเห็นได้จากม็อบหลายๆ ม็อบ และเป็นคานอำนาจที่ดีที่สุด ซึ่งกระบวนการที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะต้องทำก็คือการให้การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและประชาธิปไตยให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย อายุ สถานะทางสังคม ความรู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องหาวิธีทางทำกันต่อไป
           กล่าวโดยสรุป เท่าที่เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีแทบทุกอย่างที่ได้กล่าวมา แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่หลากหลายเช่นกัน โดยเฉพาะการนำไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติซึ่งจะทำได้ยาก แต่หากเรามีหลักยึดที่ดีแล้วการเปลี่ยนแปลงก็จะเริ่มขึ้นถึงแม้ทีละน้อยทีละน้อยใช้เวลานาน แต่ก็ถือว่าได้เริ่มแล้ว แต่ก็ไม่น่าแปลกหากจะเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในระยะเวลาไม่เกิน 20 ปี เพราะคนไทยเป็นคนใจร้อนและความอดทนต่ำ นอกจากนั้นก็ยังเป็นคนที่เลี่ยงบาลีเก่ง
แหล่งที่มา:http://sloppythinking.exteen.com/20070816/entry

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น