วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

จุดเริ่มต้นกฏหมายสูงสุดของไทย

"…ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไปแต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร" พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี
รัชกาลที่ 7

  สำหรับประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้นนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบรูณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24   มิถุนายน  2475  เป็นต้นมาประเทศไทยได้มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายแม่บทสูงสุดในการปกครองที่ประเทศหลายฉบับรัฐธรรมนูญดังกล่าวปรากฏใน 2 ลักษณะคือ ลักษณะหนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญ มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรโดยที่มีการยกร่างกันอย่างเป็นระบบกับอีกลักษณะคือรัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการชั่วคราวซึ่งมักจะเรียกว่าธรรมนูญการปกครองนั่นเอง

        รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบางฉบับใช้บังคับเป็นเวลานาน เช่น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 ซึ่งเกิดขึ้นโดยการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้บังคับเป็นเวลา 9  ปีเศษแต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรหลายฉบับใช้บังคับในระยะเวลาสั้น ๆ   เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีหลักการสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองซึ่งไม่ได้อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง  ทว่าตกอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการประจำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะนายทหารระดับสูง   ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวร จึงมักจะถูกยกเลิก   โดยการทำรัฐประหาร  โดยคณะผู้นำทางทหาร   เมื่อคณะรัฐประหาร ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป   เช่น  คณะปฏิวัติ  คณะปฏิรูป หรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อย ยึดอำนาจได้สำเร็จก็จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้วจึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร  และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรแล้วก็จะมีการเลือกตั้ง   และตามด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร  แต่เมื่อรัฐบาลดังกล่าวบริหารประเทศไปได้สักระยะหนึ่งก็จะถูกทำการรัฐประหาร และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แล้วก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว   พร้อมทั้งจัดให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใหม่อีกครั้ง มีการร่างแล้ว ร่างอีก หมุนเวียนเป็นวงจรการเมืองของรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนับหลายสิบปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา
แม้จะเกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเข้าร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็น ประชาธิปไตยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเอง   เพราะขณะทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองนั้น จอมพลถนอม ดำรง ตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมกับเตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตามวงจร การเมืองของไทยที่เคยเป็นมา ก็เกิดกระบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางออกนอกประเทศไทย และแม้ต่อมาจะมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ที่เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลักการที่เป็นประชาธิปไตยมากฉบับหนึ่ง แต่ในที่สุดก็มีการทำรัฐประหารอีก และก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้วงจรการเมืองไทยหมุนกลับไปสู่วงจรเดิม คือ รัฐประหาร ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จัดให้มีการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และทำรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซ้ำซาก วนเวียน อยู่ในวังวนต่อไป ไม่จบไม่สิ้น
ด้วยเหตุนี้ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยที่ผ่านมา จึงมีสภาพชงักงันในขั้นตอนของการพัฒนาไปสู่เป้าหมายอุดมการณ์ประชาธิปไตยตลอดมา วัฏจักรของความไม่ต่อเนื่องดังกล่าวข้างต้น  จนกระทั่งเกิดกระบวนการปฏิรูปการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาของระบบการเมืองไทยทั้งระบบหลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2534 และเกิดเหตุการณ์นองเลือดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ในที่สุด กระบวนการปฏิรูปการเมือง ก็ได้นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ขึ้นมา อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับกันอยู่ในปัจจุบันนี้
           ดังนั้น การทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จำเป็นต้องศึกษาประวัติ ความเป็นมา และสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญไทยแต่ละฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นผลจากวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย ในอันที่จะพยายามสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นกลไกสำคัญ ในส่วนนี้ จะทำให้นักศึกษาได้ทราบถึงที่มาที่ไป รวมทั้งข้อเด่นข้อด้อยของรัฐธรรมนูญทั้ง 15ฉบับ ตามสมควร
แหล่งที่มา:http://e-learning.mfu.ac.th/mflu/1604101/chapter3/Lesson10.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น