วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

ความหมายของคำว่า"ประชาธิปไตย"

ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองและวิธีการดำเนินชีวิต ซึ่งยึดหลักของความเสมอภาค เสรีภาพและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ การปกครองระบอบประชาธิปไตยถือว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน และอำนาจอธิปไตยต้องมาจากปวงชน

ความหมายของประชาธิปไตย
                 1.ความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Democracy ซึ่งมาจากคำภาษากรีกว่า Democratia ซึ่งประกอบด้วยคำ  2  คำ  คือ Demos กับ kratein คำว่า Demos หมายถึง ประชาชน และ Kratein หมายถึง การปกครอง ฉะนั้นประชาธิปไตย (Demoskratia) จึงหมายถึง ประชาชนปกครอง หรือการปกครองโดยประชาชน
                 2.ความหมายที่เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค นักปรัชญาการเมืองหลายท่านที่ชี้ให้เห็นว่ารูปแบบการปกครองที่ดีก็คือ การปกครองที่เคารพสิทธิและความเสมอภาคของมนุษย์ เชื่อว่าสมาชิกของสังคมทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเพื่อพัฒนาตนเองและสังคมโดยส่วนรวม ยอกจากนี้ระบบการเมืองจะต้องเปิดโอกาส หรือให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการดำเนินการใดๆ ภายใต้กฎระเบียบของสังคมด้วย ซึ่งรูปแบบการปกครองดังกล่าว ก็คือระบอบประชาธิปไตย
                 3.ความหมายที่เน้นการเข้ามีส่วนร่วมหรือเสียงของประชาชน ในเมื่อระบอบประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ใช้อำนาจนี่ผ่านทางองค์กรทางการเมืองต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง บาทบาทของประชาชนในทางการเมือง จึงมีความสำคัญมากในระบอบนี้ จนมีผู้กล่าวว่า ประชาธิปไตยนั้นถือว่าประชาชน คือ เสียงสวรรค์ เป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมดำเนินการเพื่อสร้างสรรค์สังคมของตนเอง กิจกรรมการเข้าร่วมทางการเมืองของประชาชน อาจเป็นทางอ้อมโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์เข้าไปทำหน้าที่แทน หรืออาจเป็นทางตรง เช่นการประท้วง การร้องเรียน ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลรับทราบถึงปัญหา เป็นต้น
                 4.ความหมายที่เน้นเจตนารมณ์ของประชาชน ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น แห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ความหมายของคำว่าประชาธิปไตยไว้อย่างกระชับและคมคายว่า เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ผู้นำทางการเมืองเป็นผู้ที่ถือเสมือนเป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของประชาชน รัฐบาลเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก หรือได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ รัฐบาลจะคงอยู่ในอำนาจต่อไปได้เมื่อวาระสิ้นสุดลง ก็โดยการแสดงให้ประชาชนผู้เลือกตั้งเห็นว่า รัฐบาลสามารถสนองตอบต่อเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น
                 5.ความหมายตามที่มาและขอบเขตอำนาจ มีผู้ให้ความหมายของประชาธิปไตยไว้ว่า อำนาจสูงสุดมาจากประชาชน ทั้งนี้โดยอ้างว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาย่อมมีสิทธิและเสรีภาพ   โดยธรรมชาติ พวกเขาสามารถที่คิดและกระทำการใดๆ ได้ แต่เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคม เขาจะสละสิทธิ์และอำนาจบางประการให้กับผู้ปกครอง เพื่อใช้อำนาจนั้นดำเนินการภายในกรอบที่กำหนด ฉะนั้นเราจะพบว่ารัฐบาลในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนั้นจะมีอำนาจที่มีขอบเขต
                 จากความหมายอันหลากหลายของคำว่า ประชาธิปไตย นี้ จึงอาจสรุปความหมายหลักได้ 3 ประการ คือ
                     1.ความหมายในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง
                     2.ความหมายในเชิงรูปแบบการปกครอง
                     3.ความหมายในเชิงวิถีวิชีวิตของประชาชน


 ข้อดีและข้อเสียของประชาธิปไตย
             ข้อดี
                 1.ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพและเสมอภาค ประชาชนทุกคนมีสิทธิแห่งความเป็นคนเหมือนกันไม่ว่ายากดีมีจน เช่น สิทธิในร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน ทุกคนมีเสรีภาพในการกระทำใดๆ ได้หากเสรีภาพนั้นไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการพูด การเขียน การวิพากษ์วิจารณ์ และทุกคนมีความเสมอภาค หรือเท่าเทียมกันที่จะได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย มีความเสมอภาคในการประกอบอาชีพ เป็นต้น
                 2.ประชาชนปกครองตนเอง ประชาชนสามารถเลือกตัวแทนไปใช้อำนาจนิติบัญญัติในการออกกฎหมายมาใช้ปกครองตนเอง และเป็นรัฐบาลเพื่อใช้อำนาจบริหาร ซึ่งสามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนส่วนรวมได้ดี เพราะผู้บริหารที่เป็นตัวแทนของปวงชนย่อมรู้ความต้องการของประชาชนได้ดี
                 3.ประเทศมีความเจริญมั่นคง การมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองทำให้ประชาชนมีความพร้อมเพรียงในการปฏิบัติตามกฎ และระเบียบที่ตนกำหนดขึ้นมายอมรับในคณะผู้บริหารที่ตนเลือกขึ้นมาและประชาชนไม่มีความรู้ต่อต้าน ทำให้ประเทศมีความสงบสุขเจริญก้าวหน้าและมั่นคง
             ข้อเสีย
                  1.ดำเนินการยาก ระบอบประชาธิปไตยเป็นหลักการปกครองที่ดี แต่การที่จัดสรรผลประโยชน์ตรงกับความต้องการประชาชนทุกคนย่อมทำไม่ได้ นอกจากนั้นยังเป็นการยากที่จะให้ประชาชนทุกคนมีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตามสิทธิ เสรีภาพทุกประการ ทั้งนี้เพราะวิสัยของมนุษย์ย่อมมีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคมจึงมีการกระทบกระทั่งและละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นได้
                 2.เสียค่าใช้จ่ายสูง การปกครองระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทน เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่แทนตน การเลือกตั้งในแต่ละระดับต่างต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ทั่งงบประมาณดำเนินงานชองทางราชการและค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
                 3.มีความล่าช้าในการตัดสินใจ การตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตยต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ โดยผ่านขั้นตอนการอภิปราย แสดงเหตุผลและมติที่มีเหตุผลเป็นที่ยอมรับของสมาชิกส่วนใหญ่ จึงต้องดำเนินตามขั้นตอนทำให้เกิดความล่าช้า เช่น การตรากฎหมาย ต้องดำเนินการตามลำดับขั้นตอนของวาระ อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์เป็นเดือน หรือบางฉบับต้องใช้เวลาเป็นปี จึงจะตราออกมาเป็นกฎหมายได้
แหล่งที่มา:http://bp-smakom.org/BP_School/Social/Democracy-System.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น