วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

รัฐธรรมนูญปี 2540 ความสำคัญและความเป็นมา

การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 ปี พ.ศ.2540 ที่เรียกขานกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นั้น ก็เพื่อต้องการที่จะปฏิรูปการเมือง เพราะในขณะที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 นั้น การเมืองมีปัญหาใหญ่ๆ อยู่ 2-3 ประการด้วยกัน คือ
1.การเมืองมีลักษณะเป็นการเมืองของนักการเมือง พลเมืองเจ้าของประเทศซึ่งเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรมีสิทธิเสรีภาพน้อยและไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองเลย การเมืองของนักการเมืองหรือที่เรียกขานกันว่าระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน (REPRESENTATIVE DEMOCRACY) ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น การบิดเบือนนโยบายที่ทำจริงไปจากนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น
2.การเมืองไม่ได้รับความเชื่อถือโดยทั่วไปทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะความไม่สุจริตของระบบการเมืองจึงทำให้ฝ่ายการเมืองขาดความชอบธรรมในการใช้อำนาจ และเป็นสาเหตุนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารในเวลาต่อมา ความไม่สุจริตในระบบการเมืองเป็นที่ทราบกันทั่วไป โดยเริ่มตั้งแต่การซื้อเสียงในการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง การถอนทุนโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ประกอบกับระบบตรวจสอบและการควบคุมการใช้อำนาจไม่ดีพอทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย และไม่สามารถปราบปรามการทุจริตให้หมดสิ้นไปได้
3.เป็นการเมืองที่รัฐสภาและรัฐบาลขาดเสถียรภาพและความต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีขาดสภาวะผู้นำทั้งรัฐบาลและรัฐสภาขาดประสิทธิภาพในการบริหารงานแก้ปัญหาบ้านเมือง เนื่องจากเกิดจากการเป็นรัฐบาลผสมกันหลายพรรค ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่มีกลไกในการสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและรัฐสภาบ่อยครั้งก่อให้เกิดเรื่องความมั่นใจและความเชื่อถือในความต่อเนื่องของนโยบายอย่างมากสำหรับชาวต่างประเทศและนักธุรกิจ
ด้วยสาเหตุดังกล่าวมาแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 จึงเกิดขึ้นโดยมีเจตนาหลักเพื่อแก้ปัญหาของระบบการเมืองไทย 3 ประการด้วยกัน คือ
1.เปลี่ยนการเมืองของนักการเมืองเป็นการเมืองของพลเมือง โดยเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้พลเมือง และปรับประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของพลเมือง (PARTICIPARTORY DEMOCRACY)
2.ทำให้ระบบการเมือง และระบบราชการมีความสุจริตและมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจโดยเพิ่มอำนาจเมืองในการควบคุมการใช้อำนาจในทุกระดับครอบคลุมทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพ
3.ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ นายกรัฐมนตรีมีภาวะความเป็นผู้นำเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองได้อย่างแท้จริงและรัฐสภามีประสิทธิภาพ
ในด้านการทำให้การเมืองเป็นของพลเมืองในรัฐธรรมนูญได้ขยายและเพิ่มสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค ตลอดจนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่กำหนดไว้ใน หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ซึ่งมีถึง 53 มาตรา เพิ่มขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 ปี 2534 ที่มีอยู่เพียง 30 มาตรา โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมืองยังมีปรากฏอยู่ในหมวดอื่นๆ อีกหลายต่อหลายมาตราด้วยกันอย่างไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน
ในด้านการทำให้ระบบการเมืองมีความสุจริตและความชอบธรรมในการใช้อำนาจและการเพิ่มอำนาจพลเมืองในการควบคุมการใช้อำนาจในทุกระดับทุกด้านอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดไว้ในหมวดต่างๆ ที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ
เช่น การกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน การกำหนดให้มีการเลือกตั้งสองแบบ คือ แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการนับคะแนน การกำหนดให้มีองค์กรอิสระคือคณะกรรมการการเลือกตั้งมาจัดและดำเนินการเลือกตั้ง ตลอดจนการกำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณให้กับพรรคการเมือง รวมทั้งการให้มีการเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองที่ทุจริตและร่ำรวยผิดปกติเหล่านี้ เป็นต้น
ในด้านสร้างความมีเสถียรภาพให้กับผู้นำและความมีประสิทธิภาพให้กับรัฐสภารัฐธรรมนูญก็กำหนดให้มีมาตรการที่จะทำให้เสถียรภาพ เช่น การกำหนดให้มี ส.ส.ในระบบรายชื่อจำนวน 100 คน โดยพรรคการเมืองที่มีผู้เลือกไม่ถึงห้าเปอร์เซ็นต์ก็จะไม่ได้ ส.ส.ในส่วนนี้ ซึ่งเป็นการจำกัดให้มีพรรคการเมืองจำนวนน้อยลง การจัดตั้งรัฐบาลถ้าเป็นรัฐบาลผสมก็มีจำนวนพรรคน้อยลงการต่อรองผลประโยชน์น้อยลงก่อผลให้เกิดเสถียรภาพกับรัฐบาล กำหนดให้การยื่นอภิปรายรัฐบาลได้ยากขึ้น
การแยกฝ่ายนิติบัญญัติออกจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน เหล่านี้เป็นต้น
สภาปัญหาปัจจุบัน
การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งผลให้มีผลดังเจตนารมณ์ดังนี้ คือ
1.ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากมีการรวบรวมรายชื่อยื่นถอดถอนผู้มีตำแหน่งทางการเมือง การขอจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองจำนวนมาก การตื่นตัวในการใช้สิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ตลอดจนมีประชาชนไปทำหน้าที่ในการใช้สิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
2.จากการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 มีพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพียงแค่ 5 พรรคเท่านั้น คือ พรรคไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย ความหวังใหม่ ชาติพัฒนา และพรรคเสรีธรรม
ต่อมาสามพรรคหลังก็ทำการยุบพรรคไปรวมกับพรรคไทยรักไทย ซึ่งได้จำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรเกือบครึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน ทำให้มีการตั้งรัฐบาลผสมแค่ 2 พรรค คือ พรรคไทยรักไทยกับพรรคชาติไทย โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านอยู่เพียงพรรคเดียวทำให้เกิดความมีเสถียรภาพกับรัฐบาลและรัฐสภาอย่างไม่เคยมีมาก่อน
กล่าวคือ ทำให้รัฐบาลอยู่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญกำหนด คือ 4 ปีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย นับแต่ปี พ.ศ. 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา
จนกระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2548 คือเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทย ได้จำนวน ส.ส.ถึงจำนวน 377 คน จาก 500 คน จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวบริหารประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย
องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมาหลายองค์กร เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น องค์กรเหล่านี้มีหน้าที่ทำให้การเมืองมีความสุจริตมีความชอบธรรมอันจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและเกิดการยอมรับของสังคมโลกทั่วไป
สิ่งดังกล่าวมาแล้วจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นผลผลิตโดยตรงของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดและดีที่สุดฉบับหนึ่งของโลกและของไทยเท่าที่เคยมีมา
ผลตรงข้ามกับสิ่งที่กล่าวมาแล้วจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ไม่เป็นไปตามเจตนาของรัฐธรรมนูญซึ่งอาจจะเกิดขึ้นโดยตัวบุคคลหรือจากเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญก็ตามพอจะสรุปได้ดังนี้ คือ
1.ปัญหาเรื่องการทุจริตเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งยังมีอยู่และทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินซื้อกันตรงๆ หรือใช้อำนาจใช้อิทธิพล ตลอดจนการใช้บารมีบุญคุณทำกันทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับชัยชนะและทำกันทุกคนทุกพรรค ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้ป้องกันไว้แล้ว เช่น กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ที่จะต้องไปใช้สิทธิ การนับคะแนนรวมเขตเลือกตั้ง กำหนดให้มีองคืกรอสิระมาดูแลการเลือกตั้ง คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีสิทธิให้ใบเหลืองใบแดงแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กระทำผิดกฎ กติกาของการเลือกตั้ง รวมทั้งการกำหนดแยกฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารออกจากกัน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าเจตนาของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติกฎกติกาเหล่านี้ขึ้นมาส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันการทุจริตในการเลือกตั้งซึ่งเป็นปัญหามาตลอดซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะความไม่ชอบธรรมและการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารอันจะทำให้มีผลต่อความมีเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย
2.ปัญหาเรื่องการตรวจสอบรัฐบาลตามกลไกของรัฐธรรมนูญไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะฝ่ายค้าน ทั้งนี้ เนื่องมาจากจำนวนเสียงของฝ่ายค้านมีไม่พอเพียงตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อถอดถอนรัฐมนตรีกรณีรัฐมนตรีมีพฤติกรรมทุจริตและร่ำรวยผิดปกติ
รวมทั้งการตรวจสอบโดยภาคประชาชน การเข้าชื่อถอดถอนเป็นไปด้วยความยากลำบากจนเป็นเหตุทำให้รัฐบาลไม่สนใจเสียงส่วนน้อย หรือเสียงประชาชนที่มีความเห็นตรงข้าม จนทำให้เกิดข้อครหาว่ารัฐบาลไม่มีความโปร่งใสในการดำเนินงานในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ (MEAGA PROJECT) งบประมาณนับแสนๆ ล้าน นอกจากนี้ยังทำให้รัฐบาลถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการทางรัฐสภาอีกด้วย
3. องค์กรอิสระบางองค์กรถูกแทรกแซงทำให้ไม่เป็นกลาง ทำให้ความเชื่อถือในองค์กรเสื่อมลง สุดท้ายทำให้ความชอบธรรมของการใช้อำนาจขาดความชอบธรรมไปด้วย ซึ่งก็มีผลถึงเสถียรภาพของรัฐบาลตามมา เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้มีความสุจริตและเที่ยงธรรม หรือ ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น เป็นต้น นอกจากนี้พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลยังเข้าไปแทรกแซงการทำงานของสมาชิกวุฒิสภา ทำให้การทำงานของวุฒิสภาขาดความเป็นกลางไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
4.พรรคการเมืองบางพรรคที่ขอจดทะเบียนกับนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติหน้าที่อันพึงมีของพรรคการเมือง เช่น เผยแพร่การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการเมืองการปกครอง การหาผู้สนับสนุนทางการเมือง หรือที่สำคัญสุดคือการส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปหรือเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ ประการหลังนี้นับได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบถอยหลังลงทะเลตามมาอย่างเจ็บแสบที่สุดของคนมีอุดมการณ์ที่มั่นคงกับระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่นับความเสียหายที่มีต่อประเทศชาติอีกมากมายมหาศาล สมควรจดจำไว้เพราะเป็นบทเรียนอันประมาณค่าไม่ได้
5.นักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองที่ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารขาดคุณธรรมและจริยธรรมส่อแนวโน้มว่ามีการทุจริต คอร์รัปชั่นเอื้อประโยชน์ต่อพรรคพวก พี่น้องและคนใกล้ชิด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่และประเทศชาติขาดผลประโยชน์และโอกาสที่ควรจะได้ การกระจายรายได้ไปสู่ประชาชน ยังไม่เป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 รัฐต้องดำเนินการให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม
รายได้ส่วนใหญ่ของรัฐยังตกอยู่กับนักธุรกิจไม่กี่ตระกูลเข้าทำนอง รวยกระจุก จนกระจาย อยู่ ที่เป็นทำนองนี้ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า นักการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายบริหารดังกล่าวมาแล้ว ขาดคุณธรรมและจริยธรรมที่พึงมีสำหรับผู้บริหาร ทั้งที่รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดไว้ชัดเจน ในมาตรา 77 ...รัฐต้องจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง...เพื่อป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ... แต่ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม
การขาดคุณธรรมและจริยธรรม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลนี้ถูกยึดอำนาจในที่สุด
บทสรุป
จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสาระที่ดีและเป็นประชาธิปไตยดีที่สุดอยู่แล้ว มีบทบัญญัติที่กำหนดไว้ที่สมบูรณ์ทั้งสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของปวงชน
จากปัญหาที่เกิดจนถึงขั้นมีการใช้อำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญนั้นมาจากตัวบุคคลและคณะบุคคลมากกว่าอื่นใด ที่พยายามตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้รับใช้กลุ่มของตัวเอง มากกว่าการรับใช้ปวงชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง จึงทำให้มองว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา
การใช้อำนาจที่มียกเลิกรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสิทธิที่ทำได้ตามอำนาจที่มี การยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดอันใด สำคัญอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างกันขึ้นมาใหม่นั้นมีเจตนาเพื่อรับใช้หมู่คณะของตนเอง หรือปวงชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงเท่านั้น
และมีวิธีที่เป็นสากลอย่างไรที่จะได้คนดีเข้ามาใช้รัฐธรรมนูญ

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นบทความที่มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ :)

    ตอบลบ