วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

ศาลปกครอง



  แต่เดิมนั้น ระบบศาลของประเทศไทยเป็นระบบศาลเดี่ยว ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรตุลาการที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ รวมทั้งคดีปกครอง ภายหลังเมื่อประเทศไทยได้ปฏิรูปการเมืองโดยการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ขึ้น รัฐธรรมนูญ[จึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลปกครองแยกต่างหากจากศาลอื่น ๆ ในลักษณะศาลคู่ ส่งผลให้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทำให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ โดยเริ่มจัดตั้งศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดขึ้นพร้อมกันในวันดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าเป็นการที่ประเทศไทยเริ่มต้นใช้ระบบศาลคู่และมีหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครองของศาลอย่างเป็นรูปธรรมโดยผลของพระราชบัญญัติดังกล่าว
          


ปัจจุบัน ศาลปกครองมีอยู่ด้วยกัน ๒ ชั้น ได้แก่ ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองชั้นต้น แต่ในอนาคตอาจจะมีศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ได้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดอำนาจของศาลปกครองไว้ใน มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยบัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
อำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น”
จากถ้อยคำตอนท้ายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ที่ว่า “ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” นั้น อำนาจของศาลปกครองมีเป็นประการใดจึงพิจารณาได้จากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นสำคัญ ซึ่งมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ได้แยกประเภทคดีปกครองออกเป็น ๖ ประเภท ดังนี้
๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำฝ่ายเดียวของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ
คดีที่มีการฟ้องต่อศาลปกครองนั้นอาจเป็นการฟ้องในเรื่องคำสั่งต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คำสั่งทางปกครอง” หรืออาจเป็นกรณีที่กฎหรือการกระทำอื่นใดของทางราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
๕) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับบุคคลให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการ
๖) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ส่วนคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดไว้ใน มาตรา ๙ วรรคสอง (๑) (๒) และ (๓) ซึ่งการบัญญัติไว้ดังกล่าว มีความมุ่งหมายที่จะกำหนดข้อยกเว้นเฉพาะคดีที่มีลักษณะเป็นคดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) (๒) หรือเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลตาม (๓) ไม่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองจึงอาจสรุปได้ดังนี้
๑) การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร (มาตรา ๙ วรรคสอง (๑))
๒) การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ (มาตรา ๙ วรรคสอง (๒))
๓) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลชำนัญพิเศษ (มาตรา ๙ วรรคสอง (๓))
๔) คดีที่มีกฎหมายตัดอำนาจศาลปกครองไว้โดยเฉพาะ
แหล่งที่มา:http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1582

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น