วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

จุดเริ่มต้นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


          การเปลี่ยนผ่านการปกครองของสยามในระบอบศักดินาสวามิภักดิ์จะเห็นได้จากการขึ้นครองราชย์ครั้งที่ 2 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ พระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา ในปี พ.ศ. 2416 โดยการขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2411 มีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากการปฏิรูประบอบกองทัพ โดยเกิด “กองทหารหน้า” ซึ่งในเวลาต่อมาพัฒนาสู่การจัดตั้ง “กระทรวงกลาโหม” ในโครงสร้าง “ระบบการทหาร” ดังที่กล่าวถึงในบทความ “กองทัพในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับจุดยืนและท่าทีต่อระบอบประชาธิปไตย” ตีพิมพ์ในโลกวันนี้ ฉบับวันสุข ฉบับประจำวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 แล้วนั้น ที่มาของการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังพิจารณาได้จากโครงสร้างการเมืองการปกครองอีก 2 ด้านหลัก ด้านแรก ขณะที่โครงสร้างด้านการคลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการจัดการเงินแบบเก่ามีทางรั่วไหลมาก พวกเจ้าภาษีนายอากรไม่ส่งเงินเข้าพระคลังครบถ้วนตามจำนวนที่ประมูลได้ อีกทั้งรายได้จากส่วยสาอากรที่ส่งมายังราชสำนักยังต้องผ่านเจ้านายและขุนนางอำมาตย์ตามลำดับชั้น มีเบี้ยรายทางเสียจนพระคลังไม่อาจตรวจสอบรายได้จริงจากการผลิตในระบอบศักดินาเดิมที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยา พระองค์จึงทรงจัดการเรื่องการเงินของแผ่นดินหรือการคลังทันทีที่พระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะ มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินเต็มที่ เริ่มต้นที่การเปลี่ยนจาก “ระบบเจ้าภาษีนายอากร” มาสู่การเก็บภาษีในลักษณะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเป็นลำดับ โดยตราพระราชบัญญัติตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ จ.ศ. 1235 (พ.ศ. 2416) และโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติใน จ.ศ. 1237 (พ.ศ. 2418) ก่อนจะยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในปี พ.ศ. 2433 ทำให้พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ต้องรับส่วยสาอากรผ่านเจ้าเมืองและขุนนางศักดินาที่มีมาแต่เดิม
สำหรับด้านการปกครอง เริ่มจากส่วนภูมิภาค มีการเปลี่ยนจาก “เจ้าเมือง/เจ้าประเทศราช” ของท้องถิ่นมาเป็นระบบ “ข้าหลวง” จากส่วนกลางนับจากปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้มีการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ โดยทรงตั้งกระทรวงขึ้นใหม่ 12 กระทรวง และโอนการปกครองหัวเมืองทั้งหมดมาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ) เป็นองค์ปฐมเสนาบดี นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดระบบบริหารราชการแผ่นดินในระบบจตุสดมภ์ และระบบอัครมหาเสนาบดีคือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยในระยะเริ่มต้นจัดแบ่งเป็น 3 กรมคือ กรมมหาดไทยกลาง มีหน้าที่ทั่วไป กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ มีหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้ายและงานด้านอัยการ กรมพลัมภัง มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองท้องที่ เมื่องานการปกครองส่วนภูมิภาคขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงจัดระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่ เรียกว่าเทศาภิบาล แบ่งการปกครองเป็นมณฑล เมือง อำเภอ แต่การบริหารและรูปแบบการปกครองยังคงไม่ชัดเจนเป็นระบบเดียวกัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้เทศาภิบาลขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกระบบกินเมือง และระบบหัวเมืองแบบเก่า (หัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และเมืองประเทศราช) จัดเป็นมณฑล เมือง อำเภอ หมู่บ้าน มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้กำกับดูแลมณฑล การก่อตั้งมณฑลนั้นจะเป็นไปตามลำดับ โดยขึ้นอยู่กับความเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดการปกครองเช่นนี้เพื่อให้ส่วนกลางสามารถควบคุมดูแลหัวเมืองและจัดการผลประโยชน์แผ่นดินได้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งลิดรอนอำนาจและอิทธิพลของเจ้าเมืองในระบบเดิมลงอย่างสิ้นเชิงจะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากการแบ่งปันพื้นที่และผลประโยชน์แบบ “ศักดินาสวามิภักดิ์” มาสู่ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” นั้นเป็นเรื่องนาสนใจพอๆกับการ “เลิกไพร่” (ยุติ “ไพร่สม” ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีลักษณะส่วนตัวมาสู่การเกณฑ์ทหารแบบใหม่) มีเนื้อหาทางการเมืองมากกว่าการ “เลิกทาส” ซึ่งมีเนื้อหาทางเศรษฐกิจ (ปลดปล่อยพลังการผลิต)
เมื่อระบบการปกครองที่มีมาแต่เดิมมาถึงจุดสิ้นสุดลงพร้อมกับการสิ้นสุดผู้รับใช้ระบบที่ขึ้นต่อและมีลักษณะขุนนางศักดินา พร้อมกับระบบกินเมือง/ระบบหัวเมือง ที่เจ้าเมือง เจ้าประเทศราช และขุนนางอำมาตย์ รวมทั้งเจ้านายเชื้อพระวงศ์สามารถเกณฑ์และสะสมไพร่พล โดยอาศัยผลประโยชน์ตามศักดินา หรือสิทธิตกทอดตามสายเลือดที่ได้รับจากระบอบการปกครอง ความจำเป็นที่จะต้องสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับระบอบการปกครองใหม่และระบบบริหารราชการแบบใหม่จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ “ความภักดี” ในเจ้านายเดิมแบบศักดินาก็จะต้องถูกขจัดไปจาก “ข้าราชการใหม่” ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเป็นศูนย์รวมของรัฐชาติสมัยใหม่นี้ด้วย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดจาก “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้งขึ้นภายในพระบรมมหาราชวังเมื่อปี พ.ศ. 2442 ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ “พระเกี้ยว” มาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน เพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการใกล้ชิด และด้วยโบราณราชประเพณีที่ข้าราชการจะถวายตัวเข้าศึกษางานในกรมมหาดเล็กก่อนจะออกไปรับตำแหน่งในกรมอื่นๆ ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนนามโรงเรียนเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445
จนถึงวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 (ขณะนั้นนับวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ นับอย่างใหม่ต้องเข้าปี พ.ศ. 2460) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแห่งพระบรมราชชนกคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นั่นคือจุดกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายสำคัญในการผลิตคนมารับใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเกิดการรวบอำนาจการปกครองทั้งหมดเข้าสู่ศูนย์กลางในเวลานั้น ทั้งนี้ การพิจารณาประวัติศาสตร์ในบริบทเศรษฐศาสตร์การเมืองนั่นเอง ทำให้ผู้สนใจศึกษาไปพ้นความรู้แบบพงศาวดารที่ตั้งอยู่บนแนวคิดจิตนิยมแบบอำนาจราชศักดิ์และบารมีที่จับต้องไม่ได้
แหล่งที่มา:http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=13426

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น