วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

ระบบศาลของไทย

การปกครองประเทศในรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายนั้น ล้วนได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก “หลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย” กล่าวคือ อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ฝ่าย คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจในการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เรียกว่า “กฎหมาย” เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของประชาชนในรัฐ
อำนาจบริหาร คือ อำนาจหน้าที่ในการบริหารปกครองประเทศโดยนำเอากฎหมายต่าง ๆ ที่บัญญัติขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติไปบังคับใช้กับประชาชน
อำนาจตุลาการ คือ อำนาจในการตรวจสอบว่า กฎหมายต่าง ๆ ได้รับการเคารพและปฏิบัติตามหรือมีการละเมิดกฎหมายเหล่านั้นหรือไม่
       ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรับหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓ วรรคแรก บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” อาจกล่าวได้ว่า องค์กรหลักที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของไทยทั้งสามฝ่ายนั้น ได้แก่ รัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ
       อย่างไรก็ตาม นอกจากองค์กรหลักที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของไทยทั้งสามฝ่ายดังกล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยังได้กำหนดขึ้นไว้ในหมวด ๑๑ ให้มีองค์กรอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมิได้อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรหลักทั้งสามนั้น เรียกว่า “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” โดยแบ่งออกเป็น “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” ๔ องค์กร และ “องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ” อีก ๓ องค์กร รวมเป็น “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ทั้งสิ้น ๗ องค์กร
องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด ๑๑ ประกอบด้วย
องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ๔ องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ๓ องค์กร ได้แก่ องค์กรอัยการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ดังนั้น ในปัจจุบัน องค์กรหลักของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่
๑) รัฐสภา
๒) คณะรัฐมนตรี
๓) ศาล
๔) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ





 “ศาล” จึงเป็นหนึ่งในองค์กรหลักที่สำคัญในการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นผู้ใช้ “อำนาจตุลาการ” โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด ๑๐ ว่าด้วย ศาล กำหนดให้มีศาลทั้งสิ้น ๔ ระบบ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร
       
 การจำแนกรูปแบบของระบบศาลในต่างประเทศนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ระบบ คือ ระบบ “ศาลเดี่ยว” และระบบ “ศาลคู่”
ระบบศาลเดี่ยว เป็นระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง หรือคดีประเภทอื่น ๆ ระบบนี้เป็นระบบที่ใช้กันมากที่สุด ประเทศที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ กลุ่มประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา
ระบบศาลคู่ เป็นระบบที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเฉพาะคดีแพ่งและคดีอาญาเท่านั้น ส่วนคดีปกครองแยกให้ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจในการวินิจฉัยคดีดังกล่าว ข้อพิจารณาของระบบศาลคู่ คือ การแยกระบบของผู้พิพากษาและการแยกองค์กรศาลปกครองออกจากระบบศาลยุติธรรม ประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) เช่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแบ่งระบบศาลออกเป็น ๔ ระบบ เช่นนี้แสดงว่า ระบบศาลของประเทศไทยเป็นระบบศาลคู่ แยกเป็นอิสระจากกัน มีผู้พิพากษาหรือตุลาการของแต่ละศาลโดยเฉพาะ จะย้ายจากศาลหนึ่งไปดำรงตำแหน่งในอีกศาลหนึ่งไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้แต่ละคดีได้รับการวินิจฉัยโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายและลักษณะคดีแต่ละประเภทเหล่านั้นเป็นผู้ชี้ขาดตัดสิน ด้วยวิธีพิจารณาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ปัญหาใดอันเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่อาจวินิจฉัยโดยศาลธรรมดาได้ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยศาลทั้งสี่ระบบย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีแต่ละประเภทแตกต่างกันไป ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด ซึ่งต่อไปจะได้กล่าวถึงศาลในแต่ละระบบโดยเน้นไปที่อำนาจหน้าที่

ประเภทของศาลในประเทศไทย
        ๑. ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court)
        ๒. ศาลปกครอง (Administrative Courts)
        ๓. ศาลทหาร (Military Courts)
        ๔. ศาลยุติธรรม (Courts of Justice)
แหล่งที่มา:http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1582

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น