วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

จุดเด่น-จุดด้อยของรธนปี40


ก่อนที่จะมีการให้ประชาชนออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ใน วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นการนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 ที่ได้จากการรวบรวมความคิดเห็นของนักวิชาการ สื่อมวลชน นักการเมือง รวมทั้งของผู้เขียนเองมาเรียบเรียง โดยนำ จุดเด่นและจุดด้อยของร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ไว้ดังนี้

จุดเด่น

1. ร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ประชาชนชาวไทยมีโอกาสร่วมกันทำประชามติ ( Referendum) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ ย่อมดีกว่าการนำร่างรัฐธรรมนูญ ไปผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาที่แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง

2. ร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบบกึ่งรัฐสภาไปเป็นระบบรัฐสภาตามปกติ ทำให้รัฐสภามีความเข้มแข็งขึ้น จากเดิมที่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ได้เปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองไทยจากระบบรัฐสภาไปเป็นระบบกึ่งรัฐสภาสมัยใหม่ โดยให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็งคล้ายกับระบบการปกครองกึ่งประธานาธิบดี

3. ร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในส่วนของรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ และ แม้ว่าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแต่เดิมก็ไม่ต้องพ้นไปจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีเหมือนรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งจะทำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของกระบวนการทางรัฐสภา เช่น การตั้งกระทู้ถาม การที่คณะกรรมาธิการสภาจะมีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ข้อมูลและชี้แจงต่อฝ่ายสภา ฯลฯ

4. ร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรีของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิสมัครเป็นผู้แทนราษฎรได้ย่อมทำให้ร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 นี้มีความเป็นประชาธิปไตยในระดับที่สูงมากกว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้ประชาชนเพียงบางส่วน (เฉพาะที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีเท่านั้น) มีสิทธิสมัครเป็นผู้แทนราษฎร

5. สิทธิเสรีภาพและกระบวนการคุ้มครอง รวมทั้งการบังคับให้เกิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มีข้อดีมากกว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ในหลายประการ เช่น สิทธิในการให้ชุมชนฟ้องหน่วยงานของรัฐได้ การให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงเป็นครั้งแรกในกรณีมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรรมนูญ การให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ถ้าเป็นเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการให้ได้รับการคุ้มครองในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม

6. แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มีรายละเอียดเป็นจำนวนมากถือว่าเป็นข้อดีมากกว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 เพราะว่าเป็นการกำหนดเป็นบทบัญญัติให้รัฐบาลต้องระบุให้ชัดเจนในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาว่าจะดำเนินการใด เวลาใด เพื่อประชาชนบ้าง

7. ระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและองค์กรอิสระตามร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มีความเข้มข้นของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐมากว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่ได้กำหนดให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญให้เป็นระบบกึ่งการเมืองและกึ่งศาล เช่น การให้ฝ่ายการเมืองมีบทบาทร่วมในการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และมิได้มีข้อกำหนดในเรื่องของวิธีการพิจารณาความต่าง ๆ เอาไว้ ในร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ได้คงหลักการของระบบการตรวจสอบอำนาจรัฐและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไว้ทั้งหมด โดยทำให้มีความเป็นศาลในระดับที่สูงมากขึ้น

8. การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ตามร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 เพิ่มอำนาจทางการเมืองให้ประชาชนมากกว่าในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 โดยในร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550ได้ลดจำนวนการเข้าชื่อของประชาชนในการเสนอกฎหมายเหลือหนึ่งหมื่นคน และการถอดถอนนักการเมืองเหลือสองหมื่นคน การลงประชามติให้มีผลผูกพันการ ตัดสินใจของรัฐบาลด้วย และการให้ประชาชนห้า หมื่นคนสามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้

9. การเพิ่มหมวดการเงิน การคลัง และงบประมาณ เป็นการตรวจสอบการ ใช้อำนาจรัฐด้านการเงิน ร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ได้กำหนดเงื่อนไขการ ใช้เงินของฝ่ายบริหารไว้อย่างชัดเจน ไม่ให้มีการใช้เงินนอกงบประมาณได้อีกต่อไป เพื่อควบคุมการใช้งบประมาณของฝ่ายบริหารจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและต้องบอกให้ประชาชนทราบที่มาของงบประมาณ รวมถึงภาระผูกพันในอนาคต ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ไม่มีหมวดนี้

10. การกำหนดให้มีหมวดจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและ เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นครั้งแรกในร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 โดยกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม มีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการ ลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ไม่มีหมวดนี้

จุดด้อย

1. ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมผ่าน รัฐสภา โดยมาจากตัวแทนในแต่ละจังหวัด 76 คน และจากผู้มีความรู้ด้านกฎหมายมหาชน ด้านรัฐศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินอีก 23 คน รวม 99 คน ในขณะที่สภาร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 จะมาจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 2,000 คนที่มาจากการแต่งตั้งแล้วเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน จากนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะเลือกให้เหลือ 100 คน

2. ที่มาของรัฐสภา รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งด้วยกันทั้ง 2 สภา ต่างกับร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่วุฒิสภามาจากระบบผสม คือ จากการเลือกตั้ง 76 คน และสรรหา 74 คน ทำให้มองเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มีความเป็นประชาธิปไตยในระดับที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งระบบผสมดังกล่าวเป็นระบบใหม่ ฉะนั้นในวันข้างหน้าจึงยังไม่มีความแน่นอนว่าระบบนี้จะอยู่ต่อเนื่องและยาวนานมากเท่าใด

3. เจตนารมณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 มี เจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปการเมืองของประเทศไทยให้ดีขึ้น สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้จึงนำหลักวิชาการ หลักกฎหมายมาใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างบริสุทธิ์ใจ ส่วนในร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 มีเจตนารมณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญที่แตกต่างไป มุ่งแต่ที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากนักการเมืองและรัฐบาลชุดที่ผ่านมาจนลืมหลักวิชาการ หลักกฎหมายจึงทำให้ขาดหลักการและเหตุผลในการอ้างอิงจนอาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคตตามมา และที่สำคัญคือไม่ไว้วางใจในตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้ามาจึงพยายามกีดกัน ให้ออกไป แต่ดึงฝ่ายตุลาการเข้ามาแทน

4. วุฒิสภาที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาวุฒิสภาตามร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 เมื่อ ให้มากลั่นกรองการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะขัดแย้งกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่ให้ความสำคัญกับตัวแทนของประชาชน และหากให้ วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนนักการเมืองด้วยแล้วจะไม่ยุติธรรมกับประชาชนที่เลือกผู้แทนของตนเข้ามา แต่กลับถูกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาถอดถอนได้

5. แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่ในร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 กำหนดรายละเอียดไว้มาก ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดต่อไปจะมีภารกิจและข้อผูกมัดว่าจะต้องทำอะไรมากมาย จึงทำให้มีความคล่องตัวในการทำงานน้อยกว่ารัฐบาลตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งกำหนดให้รัฐบาลสามารถ เลือกที่จะกระทำหรือไม่ก็ได้

6. คณะกรรมการสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ได้ตัดตัวแทนของพรรคการเมืองที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ออกหมด ทำให้ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน แม้แต่นักวิชาการก็ไม่มี แต่กลายเป็นประธานศาลทั้งหลาย หรือประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเข้าไปทำหน้าที่สรรหากันเอง ทำให้แนวโน้มที่จะได้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเป็นข้าราชการที่ใกล้เกษียณ โดยตัวแทนภาคประชาชน นักวิชาการไม่มีโอกาสเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญได้เลย

7. การนำเอาฝ่ายตุลาการมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองตามร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 จะทำให้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ โดยอำนาจ 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการตามหลักการปกครองประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาจะเสียดุลและเอียงข้างฝ่ายตุลาการมากเกินไป โดยฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ กับฝ่ายบริหารถูกลดอำนาจลงไป เมื่อฝ่ายตุลาการมีอำนาจมากขึ้นก็น่าเป็นห่วงว่าอาจถูกการเมืองแทรกแซงและทำให้สูญเสียความน่าเชื่อ

http://library2.parliament.go.th/ebook/content-ebbas/cons_article2.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น